top of page
Search

“ทุกวันคุณฝึกแบบ ‘แก้จุดอ่อน’ หรือ ‘เสริมจุดแข็ง’❓”

  • Writer: Dr.Kasem THipayametrakul
    Dr.Kasem THipayametrakul
  • Jun 5
  • 3 min read

ในฐานะมือกลอง หรือศิลปินดนตรีคนหนึ่ง เราต่างรู้ดีว่าการฝึกซ้อมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ มันไม่ใช่เพียงสิ่งที่ “#ควรทำ” ตามหน้าที่ของคนรักดนตรีเท่านั้น แต่คือกระบวนการที่ฝังตัวอยู่ในทุกช่วงชีวิตของผู้ที่เดินบนเส้นทางนี้อย่างจริงจัง



๐ ใครที่อยากพัฒนา ก็ต้องซ้อม


๐ ใครที่อยากนิ่งในสถานการณ์จริง ต้องซ้อม


๐ ใครที่อยากเป็นมืออาชีพ ต้องซ้อมให้ได้แม้ในวันที่ไม่มีเวลา ไม่มีอารมณ์ และไม่มีความพร้อม


๐ และใครที่อยากอยู่ได้นานในสายอาชีพนี้ ต้องฝึกให้ได้จนถึงจุดที่ “ร่างกายไม่ต้องสั่ง” และ “ใจไม่ต้องกลัว”



แต่เมื่อเราฝึกบ่อยขึ้น จนกลายเป็นกิจวัตรประจำวัน เมื่อการหยิบไม้ขึ้นมาตี 𝗽𝗮𝗱 หรือ 𝘀𝗲𝘁 กลายเป็นสิ่งที่ทำโดยไม่ต้องคิด เมื่อการนั่งหน้ากลองกลายเป็นภาพที่คุ้นเคยจนกลายเป็นพื้นหลังของชีวิต สิ่งที่มักหลุดหายไปแบบเงียบๆ คือ "เหตุผล"



๐ เหตุผลที่เราฝึก


๐ เหตุผลที่เรายังนั่งอยู่ตรงนี้


๐ เหตุผลที่เรายังคงเคลื่อนไหวในแบบเดิมทุกวัน โดยไม่รู้ว่าจริงๆ แล้ว เรากำลังเปลี่ยนแปลง หรือแค่รักษาสถานะ



>>>วันนี้เราฝึกเพราะอะไร



เป็นไปได้ไหมว่าเราไม่ได้ฝึก “#เพื่อพัฒนา” จริงๆ แต่เพียงฝึก “#เพื่อไม่ให้แย่ลง”?



๐ ฝึกเพื่อคงความรู้สึกมั่นใจไว้


๐ ฝึกเพื่อไม่ให้กลัวเวลาไปอัดงาน


๐ ฝึกเพื่อให้มือยังคงทำงานเหมือนเมื่อวาน


๐ ฝึกเพราะไม่อยากรู้สึกผิดกับตัวเอง


๐ ฝึก…โดยไม่รู้ว่าฝึกไปเพื่ออะไรแน่ชัดอีกแล้ว



เมื่อเป้าหมายของการฝึกกลายเป็น “#การไม่ให้ถดถอย” แทนที่จะเป็น “#การค้นพบใหม่” เราจะเริ่มติดกับดักของการวนซ้ำโดยไม่รู้ตัว



๐ ซ้อมในสิ่งที่เคยผิด…เพื่อให้มันไม่ผิดอีก


๐ ซ้อมสิ่งที่ยังทำไม่ได้…เพื่อให้มันกลายเป็นสิ่งที่ “ทำได้” แบบเร็วที่สุด


๐ แต่ไม่เคยซ้อมสิ่งที่ทำได้แล้ว…เพื่อให้มันกลายเป็น “ภาษาของตัวเราเอง”



และตรงนี้เอง ที่กลายเป็นเส้นแบ่งเล็กๆ แต่สำคัญ ที่ในระยะสั้นอาจไม่รู้สึกต่าง แต่ในระยะยาว กลายเป็นสองเส้นทางที่ไปคนละทิศโดยสิ้นเชิง



เส้นทางหนึ่งพาเราไปสู่ความชำนาญที่แข็งแรง แต่อีกเส้นทาง พาเราไปสู่ความเข้าใจที่ลึกขึ้นเรื่อยๆ ว่า “เราคือใคร” บนชุดกลองนี้



การตั้งคำถามกับการฝึกฟังดูเป็นเรื่องเล็ก แต่เป็นเรื่องเล็กที่หลายคนไม่เคยทำ เพราะเมื่อเรามีตารางซ้อมชัดเจน มีเป้าหมาย มี 𝗰𝗵𝗲𝗰𝗸𝗹𝗶𝘀𝘁 มีเทคนิคใหม่ๆ ให้อัพเดทตลอด เรากลับเริ่มเชื่อว่า “ความต่อเนื่องคือคำตอบ” โดยลืมไปว่า ความต่อเนื่องที่ไม่มีเจตนา ไม่ต่างอะไรกับการหมุนล้อในที่เดิมซ้ำๆ แม้ล้อจะขยับทุกวัน แต่วิธีคิดภายในแทบไม่เคลื่อนที่เลย



แล้วเราฝึกเพื่อ “ขยับไปข้างหน้า” หรือ “หมุนอยู่กับที่” กันแน่?



คำถามนี้ไม่ได้มีคำตอบตายตัว แต่อาจเป็นคำถามเดียวที่ควรถามตัวเองบ่อยกว่า 𝗽𝗮𝘁𝘁𝗲𝗿𝗻 ไหนที่เรายังตีไม่คล่อง เพราะดนตรีไม่ใช่การสะสมทักษะ แต่คือการเดินทางสู่การรู้จัก “เสียงของตัวเอง” ผ่านทักษะที่เลือกจะพัฒนาอย่างตั้งใจ



ในช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักดนตรี เป้าหมายของการฝึกมักชัดเจน เพราะข้อบกพร่องต่าง ๆ ยังเห็นได้ชัดและมีจุดให้ “แก้” แบบตรงไปตรงมา เช่น “ตีไม่ตรง” ก็ต้องซ้อมให้ตรง, “อ่านโน้ตช้า” ก็ต้องฝึกให้เร็วขึ้น, “จับไม้ผิด” ก็ต้องปรับมือให้ถูกตามหลักการ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการธรรมชาติของการพัฒนาเบื้องต้นที่จำเป็น เพราะในขั้นต้น เราต้องการสร้าง “กล้ามเนื้อพื้นฐาน” ให้พร้อมทำงานก่อนจะพูดถึง “น้ำเสียงเฉพาะตัว” หรือ “อิสระทางศิลปะ”



ทว่าเมื่อเราผ่านพ้นระดับพื้นฐานเหล่านั้นแล้ว เมื่อเราสามารถตีได้ตรง อ่านโน้ตได้เร็ว จับไม้ได้คล่อง และรู้ว่า 𝗿𝘂𝗱𝗶𝗺𝗲𝗻𝘁 คืออะไร บางคนอาจยังคงใช้โมเดลการฝึกแบบเดิมอยู่โดยไม่รู้ตัว



๐ ฝึกเพื่อ “แก้สิ่งที่ผิด”


๐ ฝึกเพื่อ “ไม่พลาด”


๐ ฝึกเพื่อ “ให้ได้เท่าคนอื่น” หรือ “ไม่โดนนินทาเวลาขึ้นเวที”



ลองนึกภาพการฝึกแบบนี้ดู:



คุณเปิด 𝗺𝗲𝘁𝗿𝗼𝗻𝗼𝗺𝗲 ที่ 𝟲𝟬 𝗯𝗽𝗺 แล้วซ้อม 𝘀𝗶𝗻𝗴𝗹𝗲 𝘀𝘁𝗿𝗼𝗸𝗲 แบบ 𝗺𝗲𝗰𝗵𝗮𝗻𝗶𝗰𝗮𝗹 𝟭𝟱 นาที ต่อด้วย 𝟳𝟬 𝗯𝗽𝗺 อีก 𝟭𝟱 นาที โดยใช้สมาธิเพื่อ “ไม่ให้ผิด” จากนั้นไล่ 𝗿𝘂𝗱𝗶𝗺𝗲𝗻𝘁 แบบ 𝗰𝗵𝗲𝗰𝗸𝗹𝗶𝘀𝘁 ทีละชุด: 𝗳𝗹𝗮𝗺 𝘁𝗮𝗽, 𝗱𝗼𝘂𝗯𝗹𝗲 𝗽𝗮𝗿𝗮𝗱𝗶𝗱𝗱𝗹𝗲, 𝗱𝗿𝗮𝗴𝗮𝗱𝗶𝗱𝗱𝗹𝗲 ฯลฯ



สุดท้ายคุณฝึก 𝗴𝗿𝗼𝗼𝘃𝗲 ที่ไม่ถนัด เช่น 𝘀𝗮𝗺𝗯𝗮, 𝘀𝗵𝘂𝗳𝗳𝗹𝗲 หรือ 𝗼𝗱𝗱 𝘁𝗶𝗺𝗲 อีก 𝟮𝟬 นาทีโดยใช้ 𝗰𝗹𝗶𝗰𝗸 𝗴𝘂𝗶𝗱𝗲



ในที่สุด คุณก็ฝึกจนครบ “รายการของสิ่งที่ยังไม่เก่ง” ที่ตั้งไว้ในแต่ละวัน



ฟังดูเหมือนมีวินัย ดูมีเป้าหมาย ดูชัดเจน แต่ในท้ายวัน คุณอาจกลับออกจากห้องซ้อมด้วยความรู้สึกที่น่าสับสนว่า



“วันนี้เราทำครบแล้ว…แต่ไม่รู้สึกว่าค้นพบอะไรเลย” “เหมือนแค่ไม่พลาด แต่ไม่แน่ใจว่าดีขึ้นไหม”



สิ่งนี้เกิดขึ้นเพราะเรากำลังเปลี่ยนวัตถุประสงค์ของการฝึกโดยไม่รู้ตัว จากเดิมที่เคยฝึกเพื่อเข้าใจสิ่งใหม่ กลายเป็นฝึกเพื่อ “เอาตัวรอด” จากความรู้สึกผิดพลาด



๐ เพื่อให้เท้าตีได้สม่ำเสมอ


๐ เพื่อให้มือไม่สะดุด


๐ เพื่อให้มั่นใจว่าเพลงที่เรากลัวจะพลาด…จะไม่พลาด



แต่การฝึกแบบนี้อาจทำให้เรากลายเป็น “เครื่องซ่อมแซม” ที่มีทักษะสูง แต่ไม่มีเป้าหมายสร้างสรรค์ของตัวเอง



เราเริ่มตอบสนองต่อปัญหาเฉพาะหน้า มากกว่าตอบสนองต่อ “เสียงภายใน” เราเริ่มเชื่อว่า การเป็นมือกลองที่ดี คือ “#คนที่ไม่มีจุดบกพร่อง” แทนที่จะเป็น “คนที่มีจุดยืน”



เมื่อฝึกไปในกรอบแบบนี้ซ้ำๆ โดยไม่รู้ตัว เสียงของเราจะเริ่มเปลี่ยน จากเสียงที่เคยมีพลังในการค้นหา กลายเป็นเสียงที่เต็มไปด้วยแรงดันจากความกลัว



๐ แรงกลัวว่าจะผิด


๐ แรงกลัวว่าจะไม่เหมือนคนอื่น


๐ แรงกลัวว่าจะไม่ “พร้อมใช้งาน” ในทุกสถานการณ์



ในที่สุด สิ่งที่ค่อยๆ หายไป ไม่ใช่แค่ “ความสดใหม่” แต่คือ 𝗰𝘂𝗿𝗶𝗼𝘀𝗶𝘁𝘆 เสียงของเราที่เคยเปี่ยมด้วยความอยากรู้ อยากลอง อยากเปลี่ยน อยากแตกต่าง กลายเป็นเสียงที่ระมัดระวัง ตีเพื่อความรอด มากกว่าตีเพื่อแสดงความรู้สึก และพอฝึกนานเข้าจนติดนิสัย เราอาจถึงจุดที่ตีได้หมด แต่ไม่ได้ “พูด” อะไรเลย



ในทางกลับกัน ถ้าเราลองเปลี่ยนวิธีคิดที่มักยึดติดกับการ “ไล่ลบจุดอ่อน” ไปสู่แนวทางใหม่ที่ตั้งต้นจาก “จุดแข็ง” ของตัวเอง เราจะเริ่มเข้าใจว่า การฝึกนั้นไม่จำเป็นต้องเกิดจากความรู้สึกผิด หรือความไม่พอใจในตัวเองเสมอไป



ลองถามตัวเองง่ายๆ ว่า



“วันนี้ เราจะฝึกสิ่งที่เราทำได้ดีอยู่แล้ว…ให้มันลึกขึ้นอีกขั้นได้ไหม?” “เราจะขยายสิ่งที่เราพูดได้คล่อง ให้กลายเป็นภาษาที่ไพเราะและมีน้ำหนักมากขึ้นเรื่อยๆ ได้อย่างไร?”



เมื่อเราเปลี่ยนคำถามแบบนี้ จุดศูนย์ถ่วงของการฝึกก็เปลี่ยนตาม จากเดิมที่ฝึกเพื่อ “จัดการสิ่งที่ยังควบคุมไม่ได้” กลายเป็นการฝึกเพื่อ “เข้าใจลึกในสิ่งที่เราควบคุมได้แล้ว” และนั่นคือการเปลี่ยนจาก “การฝึกเพื่อลดปัญหา” เป็น “การฝึกเพื่อเพิ่มคุณภาพ” ซึ่งส่งผลต่อ 𝗺𝗶𝗻𝗱𝘀𝗲𝘁 ทั้งหมดของเราในฐานะนักดนตรี



ในแนวทางนี้ การฝึกเริ่มมีชีวิต มีความลื่นไหล มีความสอดคล้องกับตัวตน เริ่มเปลี่ยนจากพฤติกรรม 𝗺𝗲𝗰𝗵𝗮𝗻𝗶𝗰𝗮𝗹 ไปสู่พฤติกรรม 𝗲𝘅𝗽𝗿𝗲𝘀𝘀𝗶𝘃𝗲 ไม่ใช่เพียง “ควบคุมกล้ามเนื้อให้แม่น” แต่คือการ “ฟังกล้ามเนื้อในจังหวะที่มันพูด”



เช่น หากคุณรู้ว่าตัวเองมีจุดแข็งด้านไดนามิก คือสามารถควบคุมน้ำหนักได้ละเอียด การฝึกของคุณไม่จำเป็นต้องย้อนกลับไปซ้อม 𝗿𝘂𝗱𝗶𝗺𝗲𝗻𝘁 พื้นฐานเสมอ แต่สามารถเข้าสู่การฝึกระดับที่ประณีตยิ่งขึ้น เช่น:



๐ การสร้าง 𝗴𝗵𝗼𝘀𝘁 𝗻𝗼𝘁𝗲 ที่เบาจนแทบไม่ได้ยิน แต่ยังคง “รู้สึกได้” เมื่อเล่นใน 𝗺𝗶𝘅


๐ การเว้นจังหวะเพื่อให้เสียงเบาที่สุดกลับกลายเป็นโน้ตที่หนักที่สุดในความรู้สึก


๐ การวาง 𝗮𝗰𝗰𝗲𝗻𝘁 เพียงโน้ตเดียวใน 𝗴𝗿𝗼𝗼𝘃𝗲 เดิมให้เปลี่ยนฟีลทั้งประโยคอย่างสมบูรณ์


๐ การบิด 𝘃𝗲𝗹𝗼𝗰𝗶𝘁𝘆 ทีละ 𝟮–𝟯 หน่วยใน 𝗠𝗜𝗗𝗜 ให้ได้ 𝗱𝘆𝗻𝗮𝗺𝗶𝗰 𝗻𝘂𝗮𝗻𝗰𝗲 ที่ “มีอารมณ์” มากกว่าความดัง



สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่แค่เทคนิค แต่มันคือบทสนทนา คือการพูดกับเครื่องดนตรีในภาษาใหม่ การฝึกจะไม่ใช่การ “รันรายการ” อีกต่อไป แต่มันคือการ “ตกแต่งคำพูดของตัวเอง” ให้สื่อสารชัดขึ้น ลึกขึ้น และจริงขึ้น



หากคุณมีจุดแข็งด้าน 𝘁𝗶𝗺𝗲 𝗳𝗲𝗲𝗹 การฝึกที่ต่อยอดก็อาจไม่ใช่การซ้อมให้ “ตรง 𝗺𝗲𝘁𝗿𝗼𝗻𝗼𝗺𝗲” อีกต่อไป แต่คือการเล่นกับ “การไม่ตรง” อย่างมีเจตนา การสร้างความคลอนที่ควบคุมได้ หรือการวาง 𝗴𝗿𝗼𝗼𝘃𝗲 เดิมไว้ในบริบทใหม่ เช่น:



๐ เล่น 𝘀𝘄𝗶𝗻𝗴 𝘁𝗿𝗶𝗽𝗹𝗲𝘁 𝗳𝗲𝗲𝗹 บน 𝗯𝗮𝗰𝗸𝗯𝗲𝗮𝘁 ของ 𝗻𝗲𝗼-𝘀𝗼𝘂𝗹


๐ ทดลอง 𝗱𝗲𝗹𝗮𝘆 𝘀𝗻𝗮𝗿𝗲 เพียงเศษวินาทีบน 𝗯𝗮𝗹𝗹𝗮𝗱 𝘁𝗲𝗺𝗽𝗼 แล้วฟังว่ามันกระทบ 𝗲𝗺𝗼𝘁𝗶𝗼𝗻𝗮𝗹 𝗽𝗵𝗿𝗮𝘀𝗶𝗻𝗴 อย่างไร



๐ วาง 𝗯𝗮𝘀𝘀 𝗱𝗿𝘂𝗺 เร็วกว่ากลุ่มวงเครื่องเป่าราว 𝟯 𝘁𝗶𝗰𝗸𝘀 เพื่อสร้าง “ความเคลื่อนไหวที่ไม่เสถียรแต่มีชีวิต”



ทั้งหมดนี้คือการฝึกโดยไม่จำเป็นต้อง “ลบความผิด” แต่คือการ “ขยายความเข้าใจในสิ่งที่เรารักอยู่แล้ว” คือการกล้ากลับไปหาสิ่งที่ทำได้ดี และถามกับมันว่า “เธอยังซ่อนอะไรไว้อีก?” เพราะจุดแข็งที่เรามี มักจะเป็นเหมือนบ่อที่เราขุดไว้แล้ว แต่มักหยุดขุดกลางทาง เพียงเพราะเรามัวแต่หาบ่อใหม่ๆ ที่ดูยังไม่เต็ม



ในที่สุด เราจึงมีแต่หลุมตื้นๆ เต็มไปหมด แต่ไม่มีบ่อไหนลึกพอจะกลายเป็น “แหล่งน้ำถาวร” ที่คนอื่นจะจดจำว่า “นี่คือของคุณ”



เสียงที่ดีที่สุดของคุณ อาจซ่อนอยู่ในสิ่งที่คุณเคยทำได้ดี แต่ยังไม่เคยขุดให้ถึงแก่น ไม่ใช่ในสิ่งที่คุณยังทำไม่ได้เลย เพราะการฝึก ไม่ควรเป็นแค่การ “แก้ไข” แต่น่าจะเป็นการ “แสดงความรัก” กับสิ่งที่ตัวเองมีอยู่แล้ว ความรักที่พาเราไปสู่การเห็นคุณค่าของสิ่งนั้น…ลึกขึ้นทุกวัน



การฝึกที่ดีที่สุด จึงไม่ควรถูกแบ่งแบบหยาบๆ ว่า “วันนี้เราซ้อมเพื่อแก้จุดอ่อน” หรือ “วันนี้เราฝึกเพื่อเสริมจุดแข็ง” เพราะแท้จริงแล้ว การฝึกทุกชนิดล้วนไร้ความหมาย หากปราศจากความเข้าใจว่า



“เรากำลังฝึกเพราะอะไร”



คำถามนี้ดูธรรมดา แต่มันคือประตูบานเดียว ที่จะนำเราออกจากกับดักของการฝึกแบบสะสมชั่วโมง เพราะถ้าเราไม่รู้ว่าเราฝึกไปเพื่ออะไร เราจะเริ่มซ้อมแบบ “ให้เสร็จ”



๐ ฝึกเพื่อ “ไม่พลาด”


๐ ฝึกเพื่อ “ให้ใครบางคนพอใจ”


๐ ฝึกเพื่อ “ให้มีความรู้สึกว่าเราเป็นคนขยัน”



แต่ไม่มีการฝึกใดในโลก จะนำไปสู่เสียงที่จริงได้ หากเสียงนั้นไม่ออกมาจากความเข้าใจภายในว่า “สิ่งนี้คือสิ่งที่ฉันกำลังค้นหาเพื่อรู้จักตัวเอง”



การฝึกคือพื้นที่ที่ซื่อสัตย์ที่สุด เพราะไม่มีคนดู ไม่มีปรบมือ ไม่มี 𝗹𝗶𝗸𝗲 มีแต่เสียงที่คุณได้ยินเอง…แล้วถามตัวเองซ้ำ ๆ ว่า



“ฉันรู้สึกอะไรตอนที่ตีแบบนี้?” “ฉันกำลังบอกอะไรผ่านมือฉัน?” “จังหวะนี้พูดถึงอะไรในชีวิตของฉัน?”



บางวัน คำตอบเหล่านี้อาจนำคุณย้อนกลับไปยังสิ่งที่คุณทำไม่ได้ คุณจะฝึก 𝗴𝗿𝗼𝗼𝘃𝗲 ที่ยังไม่เคยเข้ามือ ตี 𝗿𝘂𝗱𝗶𝗺𝗲𝗻𝘁 ที่เคยลื่นแต่วันนี้ไม่ตอบสนอง ฝึก 𝗳𝗶𝗹𝗹 ที่เคยมั่นใจแต่ตอนนี้ลังเล เพื่อเข้าใจว่าอะไรในร่างกายของคุณที่ยังไม่ยอม “ฟัง” เพื่อเรียนรู้วิธีปรับพลังงาน วิธีหายใจ วิธีอยู่กับความไม่สมบูรณ์



แต่บางวัน คำถามเดียวกันอาจพาคุณกลับไปหาสิ่งที่คุณเคยเล่นได้ดี เพื่อเล่นมันใหม่…ช้าลง ลึกขึ้น ชัดขึ้น เพื่อสังเกตว่า 𝗴𝗿𝗼𝗼𝘃𝗲 เดิมที่เคยถนัด วันนี้มันยัง “พูดแทนคุณ” ได้อยู่ไหม หรือมันกลายเป็นแค่ 𝗴𝗲𝘀𝘁𝘂𝗿𝗲 ที่หลงเหลือจากวันเก่าๆ?



สิ่งเหล่านี้จะไม่มีทางเกิดขึ้นได้ ถ้าเรายังฝึกโดยไม่ฟัง “ความรู้สึกจริงๆ ของตัวเอง”



เพราะในระยะยาว เสียงที่คนฟังจดจำ ไม่ใช่เสียงที่ซับซ้อน หรือรวดเร็ว หรือแม่นยำที่สุด แต่คือเสียงที่มี “ความมั่นคงในตัวมันเอง” มั่นคงจนไม่ต้องรีบ , มั่นคงจนไม่ต้องกลัวว่าใครจะเข้าใจหรือไม่ , มั่นคงจนทำให้คนอื่นรู้สึกว่า “เสียงนี้ไม่ใช่ใครก็ได้”



และความมั่นคงนี้ ไม่ได้มาจากเทคนิคระดับสูง. แต่เกิดจากการฝึกซ้อมที่ต่อเนื่องกับเจตนาที่ซื่อตรง. ฝึกโดยไม่วิ่งหนีจุดอ่อน. และไม่หลีกเลี่ยงจุดแข็ง ฝึกโดยฟังร่างกายและใจตัวเอง…ซ้ำแล้วซ้ำอีก



เพราะสุดท้ายแล้ว...คุณจะไม่สามารถสร้าง “เสียงเฉพาะตัว” ได้เลย ถ้าคุณไม่เคยให้โอกาสตัวเอง



ฝึกในสิ่งที่ตัวเอง เข้าใจ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ตัวเอง ยังทำไม่ได้



✧ คำถาม:


๐ ถ้ามีเวลาแค่ 𝟯𝟬 นาที คุณจะเลือกฝึก “สิ่งที่ยังไม่ผ่าน” หรือ “สิ่งที่เป็นคุณอยู่แล้ว”?


๐ คุณเคยกลับมาฟังเสียงที่คุณตี…โดยไม่เทียบกับใคร แล้วบอกว่า “เสียงนี้ดีแล้วนะ เพราะมันซื่อตรง” ไหม?



เพราะการฝึกในแต่ละวัน ไม่ได้สะท้อนแค่ว่าคุณอยากเก่งแค่ไหน แต่มันสะท้อนว่า…คุณฟังตัวเองลึกแค่ไหนแล้ว

 
 
 

Comments


bottom of page